รายงานผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง
“การทบทวนสถานการณ์วัณโรคในผู้ต้องขังจังหวัดเชียงราย เพื่อการเตรียมพร้อมก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน”
—————————————————————————————–
บทคัดย่อสำหรับผู้บริหาร
เนื่องจากจังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดชายแดนติดกับสหภาพเมียนมาร์และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community, AC) ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2558 มูลนิธิวิจัยวัณโรคและโรคเอดส์ได้จัดการประชุมเพื่อทบทวนสถานการณ์ของวัณโรคในเรือนจำจำนวนสองแห่งของจังหวัดเชียงราย ผู้ร่วมประชุมเป็นผู้บริหาร, ผู้ปฏิบัติงานและนักวิชาการจากหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐ, งานราชทัณฑ์และงานยุติธรรม, ภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน การประชุมประกอบด้วยการบรรยายและการประชุมกลุ่มย่อย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
๑. สุขภาพของผู้ต้องขังมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพชุมชน เพราะผู้ต้องขังส่วนใหญ่จะพ้นโทษ และกลับเข้าสู่ชุมชน งานวิจัยจากต่างประเทศรายงานว่าการจัดโครงการพิเศษก่อนและหลังพ้นโทษมีผลดีต่อการป้องกันเอดส์และการรักษา รวมทั้งลดการต้องขังซ้ำอีกด้วย
๒. องค์การอนามัยโลกประกาศประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดของโลก จำนวน 22 ประเทศ ในจำนวนนี้ เป็นสมาชิกอาเซียนถึง 6 ประเทศ ในส่วนของกลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศนั้น เมียนมาร์และลาวซึ่งมีพรมแดนติดกับเชียงรายมีอุบัติการณ์ของวัณโรค (TB incidence) มากเป็นอันดับต้นของภูมิภาค
๓. จังหวัดเชียงรายได้ริเริ่มโครงการ ประสานความร่วมมือการบริการทางสาธารณสุขกับเมียนมาร์และลาวไปแล้วหลายปี แต่ยังไม่มีความร่วมมือประสานโดยเฉพาะเกี่ยวกับ เรื่องสุขภาพของผู้ต้องขัง
๔. การวิเคราะห์ข้อมูลทะเบียนวัณโรคจังหวัดเชียงรายปี พ.ศ. 2550-2557 ซึ่งประกอบด้วยผู้ต้องขังที่ป่วยเป็นวัณโรค 285ราย และผู้ป่วยวัณโรคทั่วไป 13,739ราย พบว่าผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำ มีสัญชาติไทย, ชาติพันธุ์, เมียนมาร์และลาว อัตราการตรวจพบวัณโรคแต่ละปีของผู้ต้องขังสูงกว่าประชากรทั่วไป 2.7 – 9เท่า ในช่วงที่ศึกษา เมื่อเทียบกับผู้ป่วยวัณโรคทั่วไป ผู้ต้องขังที่ป่วยเป็นวัณโรคมีคุณลักษณะที่แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติคือ มีอายุเฉลี่ยน้อยกว่า, สัดส่วนการตรวจเสมหะพบเชื้อวัณโรคให้ค่าเป็นบวกสูงกว่า, เชื้อวัณโรคดื้อยาสูงกว่า, ความครอบคลุมการตรวจเอชไอวี และการติดเชื้อเอชไอวีร่วม (TB/HIV) สูงกว่า
๕. การวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย (TB/HIV) พบว่าสัดส่วนความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลในทะเบียนวัณโรคจังหวัดเกี่ยวกับการเข้าถึงยา Co-trimoxazole และยาต้านไวรัสสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี (ARV) ในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องขัง มีมากถึงร้อยละ 41–47มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาสาเหตุความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลการเข้าถึงยาทั้งสอง ซึ่งจัดเป็นยาสำคัญที่ช่วยเพิ่มการอยู่รอดของผู้ป่วย TB/HIV. อัตราการเสียชีวิตของผู้ต้องขัง TB/HIV สูงกว่าผู้ป่วย TB/HIVทั่วไปเล็กน้อย
๖. การวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะบวกในผู้ต้องขัง 145 ราย และผู้ป่วยทั่วไป 2,048ราย พบว่าผู้ต้องขังมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติดสูงกว่า นอกจากนี้ยังพบว่า ร้อยละ 11 ของผู้ป่วยวัณโรคทั่วไป เคยต้องขังในเรือนจำมาก่อน
๗. ผลการประชุมกลุ่มย่อย พบว่าคำขวัญอาเซียน “One Vision, One Identity, One community” ประยุกต์กับเรื่องการควบคุมวัณโรคและโรคเอดส์ในเรือนจำได้ว่า “ผู้ต้องขังทุกคน ไม่ว่าชนชาติใด ควรได้รับการป้องกันดูแลวัณโรคและเอชไอวี ในมาตรฐานเดียวกับประชาชนทั่วไป” จังหวัดเชียงรายจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในเรื่อง การให้ผู้ต้องขังทุกชาติได้เข้าถึงยาต้านไวรัส, การแต่งตั้งหน่วยงานหรือบุคคลรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการติดตามให้ผู้ป่วยวัณโรคที่พ้นโทษก่อนที่จะรักษาวัณโรคครบ ให้รักษาวัณโรคอย่างต่อเนื่อง หลังพ้นโทษ กรณีของผู้ต้องขังชาวไทย เจ้าพนักงานคุมประพฤติ ของกระทรวงยุติธรรมอาจมีบทบาทสำคัญในการควบคุมวัณโรค
ที่ประชุมเห็นพ้องกับข้อสรุปของการประชุมต่อไปนี้: 1) โดยทั่วไปผู้ต้องขังมีสุขภาพด้อยกว่าประชาชนทั่วไป และสุขภาพที่ไม่ดีของผู้ต้องขัง ย่อมกระทบต่อสุขภาพชุมชนและสาธารณสุข 2) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของอาเซียน ผู้ต้องขังทุกคนควรอยู่ภายใต้มาตรฐานการป้องกันดูแลด้านสุขภาพเดียวกัน 3) เครือข่ายภาครัฐ, เอกชน และประชาสังคมในจังหวัดเชียงราย ควรร่วมมือกันพัฒนาสุขภาพผู้ต้องขังเพื่อผลดีโดยรวมต่อสุขภาพชุมชนและสาธารณสุข
ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ “คลิกที่นี่”