พัฒนาบุคลากรและประสานความร่วมมือทางวิชาการ
- มูลนิธิฯ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายจัดประชุมวิชาการวัณโรคและโรคเอดส์ประจำปีให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน สมาชิกเครือข่าย ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี โดยการสนับสนุนจากสมาคมปราบวัณโรคประเทศญี่ปุ่น
- มูลนิธิฯ สนับสนุนการจัดอบรมให้ความรู้แก่อาสาสมัครในชุมชน และอาสาสมัครในเรือนจำ รวมทั้งการให้คำแนะนำทางด้านวิชาการแก่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับผู้ป่วยวัณโรคและโรคเอดส์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
- มูลนิธิฯ ให้ความร่วมมือกับคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา ในการสนับสนุนนักศึกษาระดับปริญญาโทมาเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับวัณโรคและโรคเอดส์ กรรมการมูลนิธิเข้าร่วมเป็นคณะทำงานวัณโรคและโรคเอดส์แห่งชาติ และคณะทำงานการรักษาโรคเอดส์แห่งชาติ
- เดือนก.พ. 2560 – ม.ค. 2562 มูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนอาสาสมัครญี่ปุ่นภายใต้โครงการ Japan Overseas Cooperation Volunteer (JOCV) โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) เพื่อร่วมดำเนินกิจกรรมการกุศลของมูลนิธิ โดยความร่วมมือของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยวัณโรคยากจน โดยอาสาสมัครญี่ปุ่นได้ทำการคัดกรองความยากจนเพื่อช่วยเหลือค่าเดินทางและค่ายังชีพในช่วงที่ผู้ป่วยรักษาวัณโรค
- มูลนิธิฯ ให้ความมือกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา รับนักศึกษาปริญญาโท โครงการ Capstone project ชื่อ Ms. Tessa Mochizuki เพื่อฝึกประสบการณ์ทำงานของนักศึกษา ระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม 2560 โดย Ms. Tessa Mochizuki ได้ร่างหลักสูตรการฝึกอบรมการค้นหาผู้สัมผัสวัณโรคและได้เขียนบทความ เรื่อง Viewing TB Through A New Lens: My Experience Visiting Chiang Rai Hospital สามารถอ่านบทความได้ที่ …คลิก
ผลงานความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติที่สำคัญ
“ภูมิปัญญาท้องถิ่น… สู่ความรู้สากล”
จากประสบการณ์การวิจัย และกิจกรรมโครงการต่างๆ ที่มูลนิธิฯ ได้ลงมือปฏิบัติในพื้นที่ ทำให้ได้องค์ความรู้ที่นำไปเผยแพร่สู่ระดับสากล โดยมีการนำเสนอผลการวิจัยในการประชุมนานาชาติ การนำไปใช้ในการอบรมนานาชาติ และการประชุมนโยบายระดับโลก ที่สำคัญๆ ดังนี้
เดือนกรกฎาคม 2547 การประชุมโรคเอดส์โลก ที่กรุงเทพมหานคร
มูลนิธิฯ จัดนิทรรศการและเผยแพร่หนังสือให้ความรู้เรื่องวัณโรคและโรคเอดส์ แก่ผู้เข้าร่วมประชุมชาวไทยและต่างประเทศ และได้รับเกียรติให้เป็นประธานในการอภิปรายหลักเรื่อง วัณโรคและโรคเอดส์
เดือนกรกฎาคม 2548 การประชุมโรคเอดส์นานาชาติภาคพื้นเอเซีย-แปซิฟิก เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น
ได้รับเชิญนำเสนอผลการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องวัณโรคและโรคเอดส์ ของจังหวัดเชียงราย ในการอภิปรายหลัก www.jata.or.jp/rit/rj/jintana2.ppt
เดือนมกราคม 2448-2549:การอบรมนานาชาติเรื่องวัณโรคและโรคเอดส์ ภาคพื้นเอเซีย จัดโดยองค์การอนามัยโลก
มูลนิธิฯ ร่วมเป็นคณะผู้จัดการอบรม และพัฒนาหลักสูตรการอบรม รวมทั้งเป็นองค์กรประสานงานการอบรมภาคสนามในจังหวัดเชียงราย และเป็นวิทยากรในการอบรมที่กรุงเทพมหานคร
เดือนเมษายน 2551 การประชุมกรรมการบริหารขององค์การสหประชาชาติเพื่อการควบคุมเอดส์
มูลนิธิฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้จัดนิทรรศการในการประชุมกรรมการบริหารขององค์การสหประชาชาติเพื่อการควบคุมเอดส์ ซึ่งจัดที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมูลนิธิฯ จัดนิทรรศการและเผยแพร่หนังสือให้ความรู้เรื่องวัณโรคและโรคเอดส์ แก่กรรมการบริหารและผู้เข้าร่วมประชุม
เดือนธันวาคม 2553 การประชุมนานาชาติเรื่องการวิจัยเชิงคุณภาพในการพยาบาลและการสาธารณสุข ที่ จังหวัดเชียงราย
มูลนิธิฯ ร่วมมือกับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง และมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศออสเตรเลีย, ประเทศอเมริกา และประเทศอังกฤษ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องการวิจัยเชิงคุณภาพในการพยาบาลและการสาธารณสุข โดยได้รับเชิญเป็นวิทยาการในการอภิปรายหลัก และได้จัด
นิทรรศการและเผยแพร่หนังสือให้ความรู้เรื่องวัณโรคและโรคเอดส์ แก่ผู้เข้าร่วมประชุมชาวไทยและต่างประเทศ
เดือนมกราคม 2554 คณะวุฒิสภาและกรรมมาธิการด้านสาธารณสุข, สตรี และเด็กจาก รัฐสภาของสหภาพยุโรป ศึกษาดูงานของมูลนิธิ
ในโอกาสที่มีการประชุมระดับโลกว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพ ที่กรุงเทพมหานคร มูลนิธิฯ ได้รับเกียรติ เป็นที่ศึกษาดูงานในชุมชนเชียงรายของคณะวุฒิสภาและกรรมมาธิการด้านสาธารณสุข สตรี และเด็กจาก รัฐสภาของสหภาพยุโรป